ทริป 1 วัน ตามเส้นทางรถไฟฟ้าสายสีม่วง

MRTSTATION

สถานีรถไฟฟ้าสายสีม่วง 16 สถานี จากเว็บไซต์ unboxplus.com/write-room/รถไฟฟ้าสายสีม่วง

ในที่สุดรถไฟฟ้าสายสีม่วง ช่วงบางใหญ่-บางซื่อ ก็เปิดให้บริการกันไปแล้วในวันที่ 6 สิงหาคม 2559 มีจำนวนทั้งสิ้น 16 สถานี ผมได้ฟังข่าวก็อยากไปลองนั่งกับเขาบ้างแต่ก็หาโอกาสไม่ได้สักที จนหมดโปรโมชั่นนั่งฟรีนั่นล่ะ ถึงได้แว่บมาทำธุระแถวนี้ ทริปนี้เป็นทริป 1 วัน พกแต่ตัวกับกล้องมาก็โอเค เอาล่ะ.. มาดูกันสิว่ารถไฟฟ้าสายสีม่วงมีสถานที่อะไรให้เราได้ไปเที่ยวกันบ้าง

จุดเริ่มต้นของผมคือสถานีกำแพงเพชร ของรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน หรือ รถไฟฟ้ามหานคร หรือ MRT นั่นเอง การเดินทางมีดังนี้

  • สถานีกำแพงเพชร (รถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน)
  • สถานีบางซื่อ (รถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน)
  • นั่งรถบัสฟรีไป สถานีเตาปูน (รถไฟฟ้าสายสีม่วง)
  • ไปสุดสายที่สถานีคลองบางไผ่ (รถไฟฟ้าสายสีม่วง)
  • สถานีคลองบางไผ่/สถานีบางพลู (1. วัดบรมราชากาญจนาภิเษกอนุสรณ์ หรือวัดเล่งเน่ยยี่ 2)
  • สถานีตลาดบางใหญ่ (2. เซ็นทรัล เวสต์เกต )
  • สถานีบางพลู (3. วัดบางไผ่ พระอารามหลวง)
  • สถานีแยกนนทบุรี 1 (4. เซ็นทรัลรัตนาธิเบศร์)
  • สถานีศูนย์ราชการนนทบุรี (5. ศาลหลักเมือง, 6. อุทยานมกุฏรมยสราญ, 7. วัดบัวขวัญ พระอารามหลวง)
  • สถานีเตาปูน (8. วัดสร้อยทอง พระอารามหลวง)
  • กลับมาสถานีบางซ่อน (รถไฟฟ้าสายสีม่วง)
  • สถานีบางซ่อน (9. ชุมทางสยามยิปซี)
  • นั่งรถไฟฟรีไป สถานีบางซื่อ (รถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน)

ถ้าดูตามแพลนของผมแล้ว เราจะได้พบกับที่เที่ยว 9 แห่งเลยทีเดียวครับ เอาล่ะ.. อย่าให้เสียเวลา ไปกันเลยดีกว่าคร้าบ

Image00002

ภายในตัวรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน สังเกตุว่าจะเห็นที่นั่งเป็นสีน้ำเงินชัดเจน

ผมนั่งรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน มายังสถานีบางซื่อเรียบร้อย ใจก็ตุ้มๆ ต่อมๆ ว่าจะไปถูกไหม จะไปต่อรถยังไง ก็เดินไปเรื่อยๆ ก็จะเห็นป้ายริมกำแพงทางเดินเป็นระยะ เอาเป็นว่าสบายสำหรับผมแล้วคร้าบ ไปเจอกันทางออกที่ 2 เล้ยย

Image00004

ตารางกำหนดการเวลาเดินรถไฟ/รถบัส เชื่อมต่อรถไฟฟ้าสายสีม่วงกับรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน

Image00006

รถบัสบริการฟรี เตาปูน-บางซื่อ

ออกจากสถานีมาปุ๊บ ก็เห็นรถบัสสีส้มแต่ไกลกำลังเลี้ยวมาจอดทางขวามือของผมเลย การเดินทางใช้เวลาไม่นาน ประมาณ 10 นาที ก็ไปถึงสถานีเตาปูน ผมใช้บัตรเติมเงินที่ใช้กับรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงินแตะเข้าระบบได้เลยผ่านฉลุย ยืนรอสักพักผมก็ได้เจอกับรถไฟฟ้าสายสีม่วงจังๆ แล้ว ยอมรับเลยครับว่าสวยงามมาก

Image00008

รถไฟฟ้าสายสีม่วง

Image00010

รถไฟฟ้าสายสีม่วง

Image00011

ภายในตัวรถไฟฟ้าสายสีม่วง สังเกตุที่นั่งจะเป็นสีม่วงชัดเจน

จากนั้นผมก็นั่งยิงยาวจากสถานีเตาปูนไปสุดสายที่สถานีคลองบางไผ่ ค่าโดยสาร 42 บาท ใช้เวลาเดินทางประมาณ 50 นาที

1. สถานีคลองบางไผ่ (ต่อรถ) – วัดบรมราชากาญจนาภิเษกอนุสรณ์

ออกทางออกที่ 1 ถนนหมู่บ้านบัวทอง ต่อรถบัสสาย 127 ไปถึงหน้าวัดเลยครับ (การมาวัดนี้สามารถลงที่สถานีบางพลูทางออกที่ 1 วัดบางไผ่ได้เหมือนกันครับ แล้วต่อรถสองแถวสาย 1024 หรือรถบัสสาย 1024 ไปสุดสายที่ตลาดบางบัวทอง แล้วเดินอีก 100 เมตร ก็ถึงวัดเหมือนกันครับ) วัดบรมราชากาญจนาภิเษกอนุสรณ์ เดิมเป็นโรงเจขนาดเล็ก บนพื้นที่ประมาณ 2 ไร่ ต่อมาคณะสงฆ์จีนนิกายแห่งประเทศไทย โดยวัดมังกรกมลาวาส (เล่งเน่ยยี่) ได้มอบหมายให้พระคณาจารย์จีนเป็นประธานที่ปรึกษาการจัดสร้างฝ่ายสงฆ์ และเปิดให้พุทธบริษัทชาวไทย-ชาวจีนได้ร่วมบุญสร้าง ใช้เวลาสร้างถึง 12 ปี นั่นจึงเป็นที่มาว่าทำไมหลายคนจึงเรียกที่นี่ว่า วัดเล่งเน่ยยี่ 2 นั่นเอง วัดจะเปิดให้เข้าชมเวลา 8.00 น. และปิดเวลา 18.00 น.

Image00029

วัดบรมราชากาญจนาภิเษกอนุสรณ์ หรือ วัดเล่งเน่ยยี่ 2

Image00030

พระพุทธเจ้า 3 พระองค์

Image00033

เจ้าแม่กวนอิม

2. สถานีตลาดบางใหญ่ – เซ็นทรัล เวสต์เกต

ออกทางออกที่ 4 เซ็นทรัล เวสต์เกต เดินบน Sky walk มาได้เลยครับ ที่นี่เป็นศูนย์การค้าที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในฝั่งตะวันตกด้านนี้แล้ว มูลค่าโครงการมากกว่า 10,000 ล้านบาท ดังนั้นไม่ว่าอยากได้อะไรก็ตามที่นี่มีให้ครบ สามารถจับจ่ายใช้สอยได้เต็มที่ เดินเล่นในห้างได้ทั้งวันเลยครับ

Image00025

เซ็นทรัล เวสต์เกต

Image00026

ภายในห้างเซ็นทรัล เวสต์เกต

3. สถานีบางพลู – วัดบางไผ่ พระอารามหลวง

ออกทางออกที่ 1 วัดบางไผ่ เดินประมาณ 200 เมตรจะเจอทางเข้าวัดครับ วัดนี้เป็นวัดที่เก่าแก่มาก ก่อตั้งเมื่อประมาณ พ.ศ. 2309 และได้รับเลื่อนชั้นจากวัดราษฎร์ ขึ้นเป็นพระอารามหลวงชั้นตรี ในปีมงคลเฉลิมฉลองสิริราชสมบัติ 60 ปี ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ในวันที่ 9 มิถุนายน 2549

Image00038

วัดบางไผ่ พระอารามหลวง

Image00039

โรงเรียนพระปริยัติธรรม วัดบางไผ่ พระอารามหลวง

4. สถานีแยกนนทบุรี 1 – เซ็นทรัลรัตนาธิเบศร์

ออกทางออกที่ 4 อินเด็กซ์ ลิฟวิ่งมอลล์ ที่นี่ก็คือศูนย์การค้าเซ็นทรัล รัตนาธิเบศร์ เป็นศูนย์การค้าที่เก่าแก่มาก แต่เดิมเป็นของบริษัทสยามจัสโก้แต่ถูกขายให้กับ บมจ.เซ็นทรัลพัฒนา ที่นี่มีความหลากหลายมากไม่ว่าจะเป็นเซ็นทรัล โรบินสัน โฮมเวิร์ค อินเด็กซ์ ลิฟวิ่งมอลล์ สามารถเดินเล่นได้ทั้งวันไม่ต่างกับเซ็นทรัลน้องใหม่ที่บางใหญ่เหมือนกันครับ

Image00042

เซ็นทรัลรัตนาธิเบศร์

5. สถานีศูนย์ราชการนนทบุรี – ศาลหลักเมืองนนทบุรี

ออกทางออกที่ 1 อุทยานมกุฏรมยสราญ ศาลหลักเมืองในอดีตตั้งอยู่ที่ปากคลองอ้อม ตำบลบางศรีเมือง ใกล้กับวัดเฉลิมพระเกียรติวรวิหาร สร้างขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2208 ในรัชสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราชโปรดเกล้าฯ ให้ย้ายที่ตั้งเมืองนนทบุรี จากบ้านตลาดขวัญมาอยู่ที่ปากคลองอ้อม ต่อมาในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 4 โปรดเกล้าฯ ให้ย้ายที่ตั้งเมืองนนทบุรีกลับมาตั้งที่บ้านตลาดขวัญดังเดิม ในปัจจุบันศาลหลักเมืองตั้งอยู่บริเวณศูนย์ราชการจังหวัดนนทบุรี

Image00043

ศาลหลักเมืองนนทบุรี

Image00044

องค์พระหลักเมือง

6. สถานีศูนย์ราชการนนทบุรี – อุทยานมกุฏรมยสราญ

ออกทางออกที่ 1 อุทยานมกุฏรมยสราญ ที่นี่อยู่ในความดูแลของเทศบาลนครนนทบุรี บริเวณภายในกว้างขวาง มีการพัฒนาขึ้นมากจากแต่ก่อน เช่น มีลานแอโรบิค ทางเดิน ทางวิ่ง 2 วง ล้อมรอบด้วยแมกไม้ บริเวณตรงกลางมีสระน้ำเลี้ยงปลานานาชนิดให้ชื่นชม เหมาะมากสำหรับการมาพักผ่อนทั้งแบบครอบครัว เพื่อนฝูง หรือคู่รัก

Image00047

หอนาฬิกา อุทยานมกุฏรมยสราญ

Image00046

อุทยานมกุฏรมยสราญ

7. สถานีศูนย์ราชการนนทบุรี (ต่อรถ) – วัดบัวขวัญ พระอารามหลวง

ออกทางออกที่ 1 อุทยานมกุฏรมยสราญ ต่อรถบัสสาย 134 หรือ 191 ไปลงป้ายพันทิพย์งามวงศ์วาน เดินย้อนกลับไปซอยงามวงศ์วาน 23 (ซอยวัดบัวขวัญ) จะเห็นรถสองแถวสีครีม แปะป้ายว่าไปวัดบัวขวัญ รถสองแถวจะวิ่งเข้าไปในซอยเรื่อยๆ สังเกตุว่าถ้ารถสองแถวเลี้ยวไปทางซ้ายเมื่อไหร่ให้กดกริ่งลงได้เลย แล้วจะเห็นประตูทางเข้าวัดบัวขวัญเลยครับ เดิมทีนั้นวัดชื่อว่า “วัดสะแก” ได้เปลี่ยนมาเป็นชื่อวัดบัวขวัญ และมีการพัฒนาวัดทั้งด้านถาวรวัตถุ ทางด้านการศึกษาจนเป็นโรงเรียนพระปริยัติธรรมแผนกบาลีประจำจังหวัดนนทบุรี แห่งที่ 1 และได้รับพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ยกวัดราษฎร์ ขึ้นเป็นพระอารามหลวงชั้นตรีชนิดสามัญ ในวันที่ 29 เดือน มิถุนายน พ.ศ. 2551

Image00049

วัดบัวขวัญ พระอารามหลวง

Image00050

ภายในอุโบสถ วัดบัวขวัญ พระอารามหลวง

Image00051

บริเวณโดยรอบอุโบสถ

8. สถานีเตาปูน (ต่อรถ) – วัดสร้อยทอง พระอารามหลวง

ออกทางออกที่ 1 ซอยนำชัย เดินไปทางถนนประชาราษฏร์สาย 2 เห็นป้ายก็ให้รอรถบัสสาย 5 หรือ 5ร จะไปผ่านหน้าวัดสร้อยทองพอดี วัดนี้เดิมชื่อ “วัดซ่อนทอง” สร้างขึ้นประมาณ พ.ศ. 2394 ภายในวัดมีปูชนียวัตถุที่สำคัญคือ พระพุทธรูปหล่อด้วยโลหะทองเหลือง นามว่าหลวงพ่อเหลือ สร้างจากโลหะที่เหลือจากการหล่อพระประธาน ปัจจุบันวัดสร้อยทองได้รับการยกฐานะจากวัดราษฎร์เป็นพระอารามหลวงชั้นตรีชนิดสามัญ เมื่อวันที่ 13 เดือน เมษายน พ.ศ.2545 วัดนี้อยู่ติดแม่น้ำเจ้าพระยาจึงสามารถเดินทางมาโดยเรือด่วนเจ้าพระยาได้ขึ้นลงที่ท่าเรือวัดสร้อยทอง

Image00053

เจดีย์ วัดสร้อยทอง พระอารามหลวง

Image00055

ภายในเจดีย์ วัดสร้อยทอง พระอารามหลวง

Image00057

วิหารหลวงพ่อเหลือ

Image00058

หลวงพ่อเหลือ

9. สถานีบางซ่อน – ชุมทางสยามยิปซี

ออกทางออกที่ 4 ซอยกรุงเทพ-นนทบุรี 25 จะเห็นป้ายหน้าทางเข้าจากสถานีรถไฟฟ้าเลย ที่นี่เป็นตลาดนัดตอนกลางคืน เหมือนกับตลาดนัดรถไฟ แต่แนวการตกแต่งจะไปทางแนวยิปซีหรือแนวชิคๆ อารมณ์วินเทจ สองข้างทางจะมีร้านค้าตั้งเรียงรายขนานกันไปเป็นระยะทางเกือบ 1 กิโลเมตรเลยทีเดียว ตลาดจะเปิดวันศุกร์ เสาร์ และอาทิตย์ ตั้งแต่ 18.00 น. เป็นต้นไป

Image00022

ชุมทางสยามยิปซี

Image00020

ชุมทางสยามยิปซี

Image00019

ชุมทางสยามยิปซี

เสร็จเรียบร้อยแล้วผมก็ย้อนกลับไปที่สถานีรถไฟบางซ่อนซึ่งอยู่ติดกับสถานีรถไฟฟ้าสายสีม่วงสถานีบางซ่อนเลย ไม่งงกันนะครับ จากนั้นก็รอรถไฟเชื่อมต่อที่จะพาไปส่งที่สถานีบางซื่อ โชคดีมากที่ผมไปทันเป็นเที่ยวสุดท้ายพอดี ตอน 20.30 น. ดังนั้น ถ้าเพื่อนๆ พลาดรถไฟที่สถานีบางซ่อน ก็ให้ย้อนไปลงสถานีเตาปูนเพื่อนั่งรถบัสไปยังสถานีบางซื่อได้เหมือนกันครับ รถบัสจะหมดที่ 23.00 น. รถไฟเชื่อมต่อจะใช้เวลาประมาณ 15 นาที จากสถานีบางซ่อนไปสถานีบางซื่อ และก่อนผมจะไปที่ชุมทางสยามยิปซีผมได้มานั่งรถไฟเชื่อมต่อไปกลับเล่นเรียบร้อย จึงมีรูปตอนยังสว่างมาให้ได้ชมกันครับ

Image00015

รถไฟเชื่อมต่อ บางซ่อน-บางซื่อ

Image00016

ภายในรถไฟเชื่อมต่อ บางซ่อน-บางซื่อ

ก็เป็นอันจบทริป 1 วัน ตามเส้นทางรถไฟฟ้าสายสีม่วงแล้ว หวังว่าเพื่อนๆ จะมีไอเดียในการพาครอบครัว หรือเพื่อนฝูงไปลองนั่งรถไฟฟ้าสายสีม่วง รถไฟฟ้าสายใหม่ล่าสุดของประเทศไทยเรา และยังสามารถแวะเที่ยวตามทางกันได้ด้วยนะครับ แล้วแพ็คกระเป๋าไปเที่ยวกันใหม่นะคร้าบ

ค่าใช้จ่าย

  • ค่ารถไฟฟ้าทั้งหมด 148 บาท
  • ค่ารถบัส/รถสองแถวทั้งหมด 58 บาท
  • ค่าเข้าชม ฟรี

รวมทั้งหมด 206 บาท/คน

อัลบั้มรูป

Facebook Comments

You may also like...

17 Shares
Share17
Tweet
Pin