ภารกิจปีนภูเขาไฟ ตอนที่ 3 – เซเมรุ เรนูคัมโบโล

เนื่องจากเซเมรุเป็นภูเขาไฟที่ต้องใช้เวลาอย่างน้อย 2 วัน 1 คืน ในการพิชิตยอดเขา ต้องจัดหาอุปกรณ์ค้างแรม อาหาร น้ำ และที่สำคัญต้องจ้างไกด์ ข้อมูลในอินเตอร์เน็ตก็มีน้อยมากจึงหลีกเลี่ยงไม่ได้เลยที่จะต้องไปลุยเอาหน้างาน เมื่อถึงออฟฟิศเจ้าหน้าที่อุทยานก็แนะนำไกด์ให้มาคุยรายละเอียดเรื่องระยะเวลาที่ใช้ในการการเดินทาง เรื่องค่าใช้จ่ายสำหรับการปีนภูเขาไฟเซเมรุ ตรงจุดนี้คือจุดเปลี่ยนความคิดของสมาชิกว่าเราควรจะไปต่อหรือไม่

เส้นทางพิชิตยอดเขาเซเมรุ 19 กิโลเมตร (ไปกลับ 38 กิโลเมตร)

  1. Desa Ranu Pani – 2,200 mdpl (จุดเริ่มต้น อุทยานเซเมรุ)
  2. Watu Rejeng – 2,350 mdpl (กม.ที่ 6)
  3. Ranu Kumbolo – 2,400 mdpl (จุดกางเต็นท์ ทะเลสาบคัมโบโล กม.ที่ 9)
  4. Oro-oro Ombo – 2,460 mdpl (ทุ่งดอกลาเวนเดอร์ กม.ที่ 10)
  5. Kalimati – 2,700 mdpl (จุดกางเต็นท์ คาลิมาติ กม.ที่ 17)
  6. Arcopodo – 2,900 mdpl (ตีนเขาเซเมรุ กม.ที่ 18)
  7. Gunung Semeru – 3,676 mdpl (ปากปล่องเซเมรุ กม.ที่ 19)

ค่าใช้จ่ายในการพิชิตยอดเขาเซเมรุ

  • ค่าเข้าอุทยานเซเมรุ 2 วัน 420,000 IDR/คน
  • ค่าจ้างไกด์ 1 คน 2 วัน 900,000 IDR ตกคนละ 150,000 IDR
  • ค่าจ้างลูกหาบ 2 คน 2 วัน 800,000 IDR ตกคนละ 134,000 IDR
  • ค่าเช่าเต็นท์ 3 หลัง 2 วัน 420,000 IDR ตกคนละ 70,000 IDR
  • ค่าเช่าเบาะปูรองนอน 2 วัน 40,000 IDR/คน
  • ค่าเช่าถุงนอน 2 วัน 60,000 IDR/คน
  • ค่าอาหารห่อ 4 มื้อ 60,000 IDR/คน

รวมทั้งหมด 934,000 IDR/คน หรือ 2,476 บาท/คน

ค่าใช้จ่ายยังไม่หมดแค่นี้ เพราะต้องดูพยากรณ์อากาศด้วยว่าฝนจะตกไหม อากาศจะเย็นแค่ไหนเพื่อที่จะได้เช่าอุปกรณ์กันหนาว กันลื่น และอื่นๆ เพิ่มเติมอีก งั้นเอาคร่าวๆ เลยก็คนละไม่เกิน 3,000 บาท

ออฟฟิศของอุทยานเซเมรุ

เมื่อได้ราคาก็ขอกลับมาตั้งหลักก่อน เพราะสมาชิกหลายคนรู้สึกว่าเวลา 2 วัน 1 คืนมันเร่งรีบไปกับ 38 กิโลเมตร ซึ่งบริเวณภูเขาไฟนั้นทั้งลื่นทั้งชัน ก็เลยกังวลว่าจะเดินต่อเนื่องไม่ไหว และค่าใช้จ่ายต่างๆ เขาคิดเป็นวัน ต่อให้เราวิ่งไปก็ตามก็ต้องใช้เวลา 2 วัน ต่างกับที่โบรโม่ หรือคาวาอีเจี้ยน ที่ใช้เวลาวันเดียวก็จบ ทำให้ค่าใช้จ่ายถูกกว่ามาก

หลังจากปรึกษากันเรียบร้อยก็กลับไปคุยกับไกด์ใหม่ เปลี่ยนแพลนว่าไม่ต้องการพิชิตยอดเขาเซเมรุแล้ว ไปแค่ชมทะเลสาบคัมโบโล และทุ่งลาเวนเดอร์ก็พอ โดยที่ทุ่งลาเวนเดอร์ (ออโร ออโร ออมโบะ) เราจะมองเห็นยอดภูเขาไฟเซเมรุได้อย่างชัดเจน แล้วก็เดินทางกลับเลยในวันเดียวกันทำให้ประหยัดค่าใช้จ่ายไปได้มาก

เส้นทางเดินป่าไปทุ่งลาเวนเดอร์ (Oro-oro Ombo) 10 กิโลเมตร (ไปกลับ 20 กิโลเมตร)

  1. Desa Ranu Pani – 2,200 mdpl (จุดเริ่มต้น อุทยานเซเมรุ)
  2. Watu Rejeng – 2,350 mdpl (กม.ที่ 6)
  3. Ranu Kumbolo – 2,400 mdpl (จุดกางเต็นท์ ทะเลสาบคัมโบโล กม.ที่ 9)
  4. Oro-oro Ombo – 2.460 mdpl (ทุ่งดอกลาเวนเดอร์ กม.ที่ 10)

ค่าใช้จ่ายในการเดินป่าไปยังทุ่งลาเวนเดอร์ (Oro-oro Ombo)

  • ค่าเข้าอุทยานเซเมรุ 1 วัน 210,000 IDR/คน
  • ค่าจ้างลูกหาบ 1 คน ไปกลับวันเดียว 300,000 IDR ตกคนละ 50,000 IDR
  • ค่าอาหารห่อ 1 มื้อ 15,000 IDR/คน

รวมทั้งหมด 275,000 IDR/คน หรือ 730 บาท/คน

สมาชิกทุกคนแฮปปี้กับแพลนนี้ เพราะการเดินป่าแค่ 20 กิโลเมตรเป็นเรื่องง่าย เมื่อเราไม่ต้องปีนยอดภูเขาไฟการจ้างไกด์ก็ไม่จำเป็น และการเดินทางไปกลับภายในวันเดียวทำให้ไม่ต้องเช่าเต็นท์และถุงนอน ค่าใช้จ่ายรวมทั้งหมดจึงถูกลงกว่า 4 เท่าตัว พรุ่งนี้ 9.00 น. จะมาเจอลูกหาบที่หน้าทางเข้าอุทยาน โดยลูกหาบจะช่วยแบกอาหารและน้ำให้เรา รวมทั้งเป็นคนนำทางให้เราด้วย เมื่อสบายใจกันแล้วก็ไปเดินเที่ยวหมู่บ้าน Ranu Pane กันครับ

ทะเลสาบเรกูโล (Regulo Lake)

ทะเลสาบนี้อยู่ไม่ไกลจากจากหมู่บ้าน Ranu Pane ใช้เวลาเดินเท้าประมาณ 20 นาที ถ้าโชคดีเราจะได้เจอสายหมอกไหลไปมาอยู่เหนือน้ำ แนะนำให้มากับกลุ่มเพื่อนเพราะบริเวณนี้เงียบสงบมากจนเปลี่ยวเลยครับ

ทะเลสาบเรกูโล (Regulo Lake)

ทะเลสาบเรกูโล (Regulo Lake)

พวกผมใช้เวลาที่ทะเลสาบเรกูโลกันพักใหญ่ เพราะอากาศที่นี่บริสุทธิ์ เย็นสบาย เงียบสงบ นี่คือปางอุ๋งเรนูเรกูโล (พวกผมตั้งชื่อกันเองนะครับ) ความเมื่อยล้าต่างๆ ถูกดูดกลืนหายไปกับสายหมอก และตั้งแต่ก้าวเท้าเข้ามาที่หมู่บ้านแห่งนี้สัญญานโทรศัพท์รวมทั้ง 3G/4G ดับสนิท เป็นอันว่าพวกผมถูกตัดขาดจากโลกภายนอกอย่างสิ้นเชิง

เมื่อกลับถึงที่พักเราจะเจอกับทะเลสาบ Ranu Pane ที่เต็มไปด้วยจอกแหนไม่มีความสวยงามเลย แต่ทำไมผมต้องพูดถึงทะเลสาบนี้นะเหรอ ก็เพราะว่าจุดนี้มันมี Free Internet Wifi (DESA POS | PENDAKIAN G. SEMERU) เป็นที่เดียวในหมู่บ้านที่จะทำให้เราติดต่อโลกภายนอกได้ พวกผมต้องเดินจากที่พักเป็นระยะทาง 200 เมตร มายังบริเวณประตูทางเข้าทะเลสาบเพื่อใช้อินเตอร์เน็ต จะว่าไปก็ไม่ใช่แต่พวกผมหรอกครับ เรียกว่าคนทั้งหมู่บ้านเลยล่ะกัน ฮ่าๆๆ แล้วผู้ชายที่หมู่บ้านนี้แว๊นซ์เก่งกันตั้งแต่เด็กๆ เสียงรถมอเตอร์ไซต์ดังแว๊นซ์ๆ กันตลอด

ยิ่งมืดอากาศก็ยิ่งหนาว พวกผมกลับมาที่พักพร้อมกับนัดแนะคุณลุงโทมัสให้เตรียมอาหารห่อสำหรับเดินป่าพรุ่งนี้ 1 มื้อ และคุณลุงยังบอกว่ามื้อเช้าพรุ่งนี้จะทำ Nasi Goreng (ข้าวผัด) ให้พวกผมด้วย จากนั้นก็เตรียมตัวอาบน้ำซึ่งที่พักนี้มีเครื่องทำน้ำร้อน ทำให้การอาบน้ำของพวกผมไม่ใช่เรื่องยากเย็น เมื่อเสร็จแล้วก็เข้านอนเก็บแรงสำหรับการเดินทางไกลวันพรุ่งนี้ ประมาณเที่ยงคืนฝนก็ดันมาตกซะอีก อากาศที่หนาวอยู่แล้วก็เรียกว่าหนาวจัดเลยทีเดียว ผมนี่ไม่อยากออกจากผ้าห่มก็เลยใช้ความรู้สึกคาดว่าอุณหภูมิน่าจะประมาณ 4-5  ํC กึ่งหลับกึ่งตื่นจนกระทั่งเวลาตี 5 เอาล่ะ.. ตื่นไปอาบน้ำดีกว่า บรื้ววววว…. หนาวมากๆๆๆ

บัตรเข้าอุทยานเซเมเรุ

ทุกคนก็ทยอยตื่นกันมาอาบน้ำบ้างแล้ว เช้านี้อากาศหนาวจริงๆ หมอกลงหนักมากด้วย ความหวังที่จะได้เห็นทะเลสาบคัมโบโลและภูเขาไฟเซเมรุพ่นควันก็น้อยลง แต่การมาเที่ยวก็เป็นแบบนี้แหละ ธรรมชาติจะจัดสรรให้เราเอง แค่เรามุ่งมั่นเดินหน้าต่อไป

พวกผมทานอาหารเช้าและไปรอลูกหาบที่หน้าทางเข้าอุทยานพร้อมกับจ่ายค่าเข้าสำหรับ 1 วัน (ถ้าไม่ต้องการพิชิตยอดเขาเซเมรุก็ไม่จำเป็นต้องใช้ใบรับรองสุขภาพ) เอาอาหารและน้ำใส่กระเป๋าให้ลูกหาบถือ ก็เป็นอันพร้อมเดินทาง ระหว่างทางเราแทบไม่ได้คุยกับลูกหาบเลยเพราะลูกหาบพูดภาษาอังกฤษไม่ได้ ฮ่าๆ นี่แหละข้อเสียของการไม่จ้างไกด์ ก็เลยเดินและเดินกันอย่างเดียว หมอกลงหนักมาก แต่ทุกคนก็หวังว่าฟ้าจะเปิดให้เราได้เห็นทะเลสาบคัมโบโลและภูเขาไฟเซเมรุ ตามมาชมเส้นทางเดินป่าในสายหมอกกันครับ

ทางเข้าอุทยานเซเมรุอย่างเป็นทางการ

สภาพทางเดินช่วงแรก

ซำที่หนึ่ง (ซำแฮก) เอ้ย! ไม่ช่าย ฮ่าๆๆ

หมอกจะเยอะไปไหน

เห็นซำที่สองอยู่ข้างบน ทางเดินช่วงนี้เดินง่าย

ซำที่สอง นั่งพักกันสักหน่อย

ตามทางจะมีป้ายบอก หรือมีสัญลักษณ์ริบบิ้นสีเหลืองผูกเอาไว้

บรรยากาศไซเลนฮิลจริงๆ อากาศหนาวมากๆ

ซำที่สามแล้ว พระเอกชุดแดงคือลูกหาบของเรา เหนื่อยไม่แพ้กัน ฮ่าๆ

ยิ่งเดินลึกเข้าไป หมอก็ยิ่งลงหนักมาก กลั่นตัวเป็นหยดน้ำคล้ายฝนตกมาใส่อีก เสื้อกันฝนพกไปเลยช่วยได้เยอะ

WATU REJENG 2,350 mdpl เดินมาได้ 6 กิโลเมตร เกินครึ่งทางแล้ว

ทางช่วงนี้จะลื่นและชื้นมาก

ซำที่สี่ หมอกลงหนักมากไปอีก

หน้าตาอาหารและเครื่องดื่ม

เดินตามป้ายกันต่อไป ฮุยเลฮุย

ยิ่งเดินลึกเข้าไป หมอกก็จางลงเรื่อยๆ

เป็นเรื่องแปลกประหลาดสำหรับพวกผมนั่นก็คือการที่หมอกจางลงเรื่อยๆ ท้องฟ้าเปิดให้แสงแดดได้ส่องลงมากระทบกับพื้นดิน แล้วอีกไม่กี่อึดใจข้างหน้าก็ได้เจอกับทะเลสาบคัมโบโลที่มีผืนน้ำราบเรียบนิ่งสงบ ผมหันกลับไปดูก็พบว่าหมอกสิ้นสุดอยู่ที่ป่าด้านหลัง คล้ายกับว่าพวกเราหลุดมาจากเมืองลับแลที่มีหมอกกั้นเป็นประตูทางเชื่อมระหว่างมิติ ฮ่าๆๆ ตอนนี้เป็นเวลา 14.00 น. แต่อาหารกลางวันยังไม่ตกถึงท้องเลย ฮึดสู้กันอีกนิดนึงเราจะไปพักทานข้าวกันที่ Oro-Oro Ombo (ออโร ออโร ออมโบะ) หรือทุ่งลาเวนเดอร์นั่นเอง

ทะเลสาบคัมโบโล (Kumbolo Lake)

ทะเลสาบขนาดใหญ่ที่สวยงามมาก สีน้ำเป็นสีเขียวยิ่งสะท้อนกับแสงแดดแล้วยิ่งน่ามอง บริเวณนี้จะใช้เป็นที่พักกางเต็นท์ หรือรับประทานอาหารระหว่างการเดินทางไปพิชิตยอดเขาเซเมรุ โดยเราจะต้องเดินเป็นระยะทาง 9.5 กิโลเมตร เพื่อมาถึงทะเลสาบคัมโบโล

ในที่สุดก็มาถึงทะเลสาบคัมโบโล

ท้องฟ้าเปิดราวกับหลุดมาอยู่อีกโลกนึง

หันหลังกลับมาดูทะเลสาบคัมโบโล ระหว่างเดินขึ้นเขาไปยังทุ่งลาเวนเดอร์

หลังจากถ่ายรูปกันสักพักก็เดินทางต่อ อีกไม่ไกลเราจะถึงทุ่งลาเวนเดอร์ Oro-Oro Ombo สักที ทุกคนเริ่มมีแรงคุยและบ่นหิวกันแล้ว ฮ่าๆ

ทุ่งลาเวนเดอร์ Oro-Oro Ombo

เมื่อเดินข้ามเขาอีกหนึ่งลูกถัดจากทะเลสาบคัมโบโล เราก็จะได้พบกับทุ่งลาเวนเดอร์ บริเวณออโร ออโร ออมโบะ (Oro-Oro Ombo) จากจุดนี้เราสามารถมองเห็นภูเขาไฟเซเมรุได้อย่างชัดเจนด้วยครับ น่าเสียดายที่เมฆก้อนใหญ่บังทำให้พวกผมไม่ได้เห็นภูเขาไฟเซเมรุ แต่ทุกคนก็โอเคเพราะธรรมชาติไม่สามารถคาดเดาได้จริงๆ ได้แค่นี้ก็ถือว่าดีมากแล้ว

ทุ่งลาเวนเดอร์ Oro-Oro Ombo

ทุ่งลาเวนเดอร์ Oro-Oro Ombo

อาหารห่อที่คุณลุงโทมัสจัดมาให้เรา อร่อยมากๆ

ตอนนี้เป็นเวลา 15.00 น. พวกเราเดินทางมาถึงจุดหมายสักที แต่ละคนทิ้งตัวนั่งกับพื้นกินข้าวกันอย่างเอร็ดอร่อย เป็นมื้อที่พิเศษอีกมื้อนึงที่ได้กินข้าวท่ามกลางทุ่งลาเวนเดอร์อันกว้างใหญ่สุดลูกหูลูกตา ลูกหาบพอกินข้าวเสร็จก็นอนแผ่หลาไม่สนใจพวกผมเลย ภารกิจเดินป่าพิชิตทุ่งลาเวนเดอร์กับทะเลสาบคัมโบโลก็จบลงอย่างสมบูรณ์ พวกผมให้ลูกหาบนอนพักจนกระทั่งเวลา 16.00 น. จึงออกเดินทางกลับ ขามาใช้เวลา 4-5 ชั่วโมง แต่ขากลับใช้เวลาเพียง 2-3 ชั่วโมง ทำให้ออกจากอุทยานเซเมรุได้ก่อน 19.00 น. เรียกว่ามาถึงปากทางออกฟ้าก็มืดสนิทพอดี บริหารเวลากันเก่งจริงๆ

เมื่อกลับถึงที่พักทุกคนก็แยกย้ายไปอาบน้ำล้างตัว บางคนก็ออกไปที่ทะเลสาบ Ranu Pane เพื่อเล่นอินเตอร์เน็ต แล้วก็กลับมารวมตัวกันทานอาหารเย็นที่คุณลุงโทมัสทำไว้ให้ ภารกิจเสร็จลุล่วงแล้ว แต่ก็ยังมีบางคนบ่นเสียดายที่ไม่ได้เห็นภูเขาไฟเซเมรุที่กำลังพ่นควันเป็นปุยออกมา คืนนี้พวกเราเข้านอนกันเร็วเนื่องจากเหนื่อยกับการเดินทาง

จนกระทั่งเช้าวันใหม่มาถึงรถจิ๊บก็มารอรับพวกผมแต่เช้า ถึงเวลาต้องลาหมู่บ้าน Ranu Pane แล้วสินะ เก็บข้าวของแล้วเอากระเป๋าโยนขึ้นหลังคารถ พร้อมเดินทางไปยังโรงแรมโบรโม่เปอร์มายซึ่งพวกผมนัดรถตู้ให้มารับไปค้างที่เมืองสุราบายา 1 คืน ก่อนจะต่อเครื่องไปยังกัวลาลัมเปอร์เพื่อที่จะกลับสนามบินดอนเมืองต่อไป แต่แล้วระหว่างทางโชคก็เข้าข้าง พวกผมได้เห็นภูเขาไฟเซเมรุพ่นควันส่งท้ายให้พวกเรา ทุกคนต่างก็ดีใจและประทับใจเป็นอย่างมาก ในที่สุดก็ได้เห็นแล้วนะ.. ลมหายใจของพระเจ้ามหาสุเมรุ

ภูเขาไฟเซเมรุ (Mt.Semeru)

ภูเขาไฟเซเมรุสูง 3,676 เมตร เป็นภูเขาไฟที่สูงที่สุดในเกาะชวา สามารถปีนขึ้นไปบริเวณยอดเขาได้ ซึ่งการพิชิตต้องใช้เวลาอย่างน้อย 2 วัน ลักษณะการพ่นควันจะออกมาเป็นก้อน แตกต่างจากคาวาอีเจี้ยนและโบรโม่ที่พ่นควันออกมาตลอดเวลา

ลมหายใจของพระเจ้ามหาสุเมรุ ภูเขาไฟเซเมรุ

ทริปนี้เรียกว่ามากับดวงจริงๆ เพราะพวกผมมากันช่วงปลายฝนโอกาสที่ฟ้าจะปิดมีสูงมาก แต่ฟ้าก็ยังเปิดต้อนรับพวกเราให้ได้ชมทั้งคาวาอีเจี้ยน โบรโม่ และเซเมรุ เรียกว่ามาครั้งเดียวได้ครบเลย ถึงแม้จะไม่ได้พิชิตยอดเขาเซเมรุก็ตาม (เพราะด้วยราคาค่าเข้าและค่าใช้จ่ายอื่นๆ ที่ค่อนข้างแพง) แต่ก็ทำให้พวกผมได้เจอประสบการณ์ใหม่ ความมีน้ำใจของคนอินโดนีเซีย อาหารพื้นบ้าน และวัฒนธรรมต่างๆ

เรื่องขำๆ ของทริปนี้คือ ตอนขาออกจากสนามบินจูอันดาพวกผมเตรียมเงินไว้คนละ 200,000 IDR สำหรับจ่ายเป็นค่าภาษีสนามบิน แต่ปรากฏว่าเขาเก็บไปพร้อมกับค่าตั๋วเครื่องบินเรียบร้อยแล้ว ดังนั้นพวกผมก็กลายเป็นเศรษฐีไปในชั่วพริบตา ฮ่าๆๆ และก่อนขึ้นเครื่องเจ้าหน้าที่แอร์เอเชียจะจับชั่งน้ำหนักกระเป๋าทุกคนด้วยนะ ใครเกิน 7 กิโลกรัม เตรียมตัวเดินกลับไปโหลดได้เลย ดีที่พวกผมซื้อโหลดกระเป๋าเอาไว้ก็เลยเดินผ่านฉลุย เอาล่ะ… ต้องขอจบภารกิจปีนภูเขาไฟไว้เพียงเท่านี้ “ซัมไพ จำพา ลากิ” เจอกันใหม่ทริปหน้าแล้วแพ็คกระเป๋าไปด้วยกันนะคร้าบ

อัลบั้มรูป

Facebook Comments

You may also like...

0 Shares
Share
Tweet
Pin